สวนคลองช่องนนทรี ในทุกวันนี้บนถนนพระรามที่ 3 และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ มีรถโดยสารด่วนพิเศษ สายสาทร–ราชพฤกษ์ (รถ BRT) และกรุงเทพมหานครกำลังสร้างสวนสาธารณะบนคลองช่องนนทรี แต่นี่อาจไม่ตอบโจทย์ อาจเป็นความสูญเปล่า ประชาชนต้องการรถไฟฟ้าแบบบีทีเอส (รถไฟฟ้าเฉลิมพระเกียรติ 6 รอบพระชนมพรรษา)
ทำไม สวนคลองช่องนนทรี ถึงไม่ตอบโจทย์
ดร.โสภณ พรโชคชัย)ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ( AREA ) เปิดเผยผลการศึกษาของ น.ส.อภิชญา ไวทยา (Apekchaya Vaidya) นักศึกษาชาวเนปาลที่สำรวจความต้องการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคม 2568 ดังนี้
1. การสำรวจนี้ได้ดำเนินการสำหรับกลุ่มผู้อยู่อาศัย ผู้ใช้บริการรถบีอาร์ที จำนวน 403 ราย ในช่วงปลายเดือนเมษายน 2568 ซึ่งมีอาชีพหลากหลาย เช่น พนักงานบริษัท ค้าขาย รับจ้างทั่วไป นักศึกษา ตลอดจนมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นต้น เพื่อขอทราบความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีอยู่ของรถบีอาร์ที และโอกาสที่จะก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอสในบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์และถนนพระรามที่ 3 ทั้งนี้ 23% เป็นผู้ที่ใช้บริการรถบีอาร์ที ส่วนอีก 77% ไม่ใช้บริการ
2. ผลการสำรวจเบื้องต้นพบว่าจำนวนผู้ต้องการให้เลิกรถบีอาร์ที และคืนพื้นที่ผิวจราจรให้ใช้สำหรับรถยนต์ทั่วไป มี 203 ราย ที่ไม่ต้องการให้ยกเลิกมี 200 ราย ซึ่งถือว่าไม่แตกต่างกัน
3. อย่างไรก็ตามปรากฏว่าผู้ใช้บริการรถบีอาร์ที ประจำอยู่แล้ว เกือบทั้งหมดต้องการให้รถบีอาร์ที คงอยู่เพราะได้ใช้บริการ และจำนวนผู้ไม่ได้ใช้บริการที่ยังต้องการให้มีรถบีอาร์ที อยู่ก็จะเป็นกลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่จอดอยู่ตามสถานีขึ้นลงของรถบีอาร์ที หรือที่ค้าขายกับผู้คนที่สัญจรด้วย BRT
ดังนั้นหากไม่พิจารณาถึงกลุ่มนี้ เชื่อว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึงสองในสามต้องการให้ยกเลิกรถบีอาร์ที เพื่อให้การสัญจรสะดวกขึ้น เพราะถือว่าเพิ่มผิวจราจรขึ้นอีก 33% (จาก 3 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร) หรือหากต้องการให้คงรถบีอาร์ที ไว้ ก็อาจจะมีช่องจราจร BRT เฉพาะในชั่วโมงเร่งด่วน เป็นต้น
4. อย่างไรก็ตามหากมีการยกเลิกรถบีอาร์ที แต่แทนที่ด้วยรถไฟฟ้าบีทีเอส ก็ปรากฏว่ามีผู้ที่เห็นด้วยกับการนี้ถึง 86% หรืออาจถือได้ว่าแทบทั้งหมดเห็นด้วย เพราะอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้มากกว่า และยังสามารถคืนผิวจราจรให้กับรถที่วิ่งตามปกติได้ แม้รถไฟฟ้าบีทีเอส น่าจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารถบีอาร์ทีก็ตาม ในกรุงเทพมหานครเขตใจกลางเมือง การเดินทางค่อนข้างใช้เวลามากเป็นพิเศษ ดังนั้นการที่จะมีรถไฟฟ้าแบบบีทีเอส น่าจะเป็นผลดีต่อส่วนรวมมากกว่า
5. โดยนัยนี้ การก่อสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรี ที่บางส่วนก็ยื่นเข้าไปในคลอง จึงอาจกีดขวางเป็นเป็นไปได้ในการก่อสร้างรถไฟฟ้าบีทีเอส และอาจไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างก็ได้ เพราะรถไฟฟ้าแบบบีทีเอสน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า การสร้างสวนสาธารณะอยู่กลางถนน โอกาสที่จะมีผู้ใช้บริการก็คงน้อย การขุดล้อมต้นไม้มาปลูก ก็คงไม่สามารถนำไม้ใหญ่มาได้ ทำให้แดดร้อน จึงยิ่งไม่น่าจะมีผู้ใช้บริการมากนัก ที่สำคัญค่าก่อสร้างสวนสาธารณะแห่งนี้มีราคาสูงมากถึง 200,000 บาทต่อทุก 1 เมตรที่สร้าง (โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองช่องนนทรี ช่วงที่ 3 เริ่มต้นที่ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 ถึง ถนนจันทน์ รวมระยะทาง 1,600 เมตร)
ทั้งนี้ ดร.โสภณ มีข้อเสนอแนะว่ากรุงเทพมหานครควรทบทวนการสร้างสวนสาธารณะคลองช่องนนทรีเสียใหม่ เพื่อประหยัดงบประมาณที่แสนแพงนี้ ทั้งอาจดูเป็นโครงการที่ดูไม่โปร่งใสเท่าที่ควรเพราะมีราคาแพงมาก และพิจารณาสร้างรถไฟฟ้าแบบบีทีเอสกลางคลองช่องนนทรีและบนถนนพระรามที่ 3 จะทำให้เกิดประโยชน์กว่านี้ ยิ่งราคาที่ดินตามริมถนนนี้เพิ่มขึ้น กรุงเทพมหานครก็จะยิ่งได้ภาษีที่ดินอและสิ่งปลูกสร้างมาพัฒนาท้องถิ่นได้เพิ่มเติม นับว่าจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย formuladenegocio